มารู้จัก “โรคหัด” ติดต่อง่าย แต่ป้องกันได้
7 November 2018, 4:14 pm

มารู้จัก “โรคหัด” ติดต่อง่าย แต่ป้องกันได้

โรคร้ายที่มากับลมหนาว โรคหัด คือโรคที่มีไข้แล้วออกผื่น (Exanthematous fever) พบได้บ่อยในเด็กเล็ก นับว่า เป็นโรคที่มีความสำคัญมากอีกโรคหนึ่ง เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้

โรคหัด เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
         เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งอยู่ในตระกูล Paramyxovirus ซึ่งเป็น RNA ไวรัส ที่จะพบได้ในจมูก และลำคอของผู้ป่วย

โรคหัด โรคไข้ออกผื่น พบได้บ่อยในช่วงอายุใด ?

         โรคหัดติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส (air borne) เข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเกือบทุกราย ถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค เด็กมีโอกาสจะเป็นหัดได้เมื่อภูมิคุ้มกันที่ผ่านมาจากแม่หมดไปเมื่ออายุประมาณ  6 – 9  เดือน

อายุที่พบบ่อยคือ 1-6 ปี ถ้าไม่มีภูมิต้านทานจะเป็นได้ทุกอายุ ผู้ป่วยหัดจะมีเชื้อไวรัสในลำคอ และแพร่เชื้อได้ในระยะจาก 1-2 วัน ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ (3 ถึง 5 วัน ก่อนผื่นขึ้น) ไปถึงระยะหลังผื่นขึ้นแล้ว 4 วันระยะฟักตัวของโรค จากที่เริ่มสัมผัสโรคจนถึงมีอาการประมาณ 8-12 วัน เฉลี่ยจากวันที่สัมผัสจนถึงมีผื่นเกิดขึ้นประมาณ 14 วัน

 

อาการ ของโรคหัดเป็นอย่างไร ?

หลังจากสัมผัสกับคนที่เป็นโรคประมาณ 10-12 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการคือ มีไข้ อาจจะมีอาการไอ ตาแดง  มีขี้ตามาก  และน้ำมูกไหลร่วมด้วย เมื่อมีไข้ 2-3 วัน จะตรวจพบ  Koplik’s spot ที่เยื่อบุช่องปาก  (มีลักษณะเป็นจุดขาวเล็ก ๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด  ล้อมรอบด้วยผื่นแดง ซึ่งจะหายไปหลังจากผื่นขึ้นแล้ว 1-2 วัน) ลักษณะไข้จะค่อยๆ ขึ้นจนสูงสุดในวันที่ 3 หรือ 4 ซึ่งเป็นวันที่ผื่นเริ่มขึ้น และยังคงมีไข้ต่อไปอีก 2-3 วัน  แล้วจะลดลงอย่างรวดเร็ว      บางรายอาจจะมีไข้สูงใน 1-2 วันแรก  แล้วลดลงสู่ปกติ 1 วัน จากนั้นไข้จะเริ่มสูงขึ้นใหม่ และสูงสุดพร้อมกับมีผื่นขึ้น

                ผื่นจะเริ่มขึ้นประมาณวันที่ 4 หลังจากเริ่มมีไข้  ลักษณะผื่นเป็นผื่นนูนแดงเม็ดเล็ก ๆ คล้ายผดอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Maculopapular rash) โดยเริ่มขึ้นที่หลังหู  ไรผม  หน้าผาก  ใบหน้า  แล้วลามลงมาตามคอ  หน้าอก  แขน  ท้อง  และขา  ตามลำดับ  การลามของผื่นจากศีรษะถึงเท้า  ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน   ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนไข้จะลดลงใน 72 ชั่วโมง หลังผื่นขึ้น  ผื่นจะค่อยๆ จางลงเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีคล้ำขึ้น  เริ่มจากหน้ามาถึงเท้า  หลังจากนั้นจะลอกเป็นแผ่นบางๆ และหายไปภายใน 7-10 วัน  ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการหอบและไอมากในระยะที่ผื่นขึ้นเนื่องจากเกิดโรคปอดบวมแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในโรคหัด คืออะไร?

         พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะทุพโภชนาการ และในเด็กเล็กที่พบบ่อย มีดังนี้
         1.   ทางระบบทางเดินหายใจ
               -   หูส่วนกลางอักเสบ (Otitis media)
               -   หลอดลมอักเสบ Croup
               -   ปอดอักเสบ
         2.   ทางระบบทางเดินอาหาร พบอุจจาระร่วง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการ
         3.   สมองอักเสบพบได้ประมาณ 1 ใน 1000 ราย ซึ่งจะทำให้มีความพิการเหลืออยู่ ถ้าไม่เสียชีวิต
         4.   ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรงและอาจทำให้มีตาบอด 

 

 

โรคหัดรักษาอย่างไร?
         1)   ให้การรักษาตามอาการ ถ้าไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว ให้ยาแก้ไอที่เป็นยาขับเสมหะได้เป็นครั้งคราว
         2)   ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากรายที่มีโรคแทรกซ้อนเช่น ปอดอักเสบหูอักเสบ
         3)   ให้อาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน

การแยกผู้ป่วย
         แยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดจนถึง 4 วัน หลังผื่นขึ้น

 

“โรคหัด” ป้องกันได้
             วิธีดูแลตนเอง และป้องกันโรคหัด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย โดยแยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดจนถึงประมาณ 4 วันหลังผื่นขึ้น แต่ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ฉีดวัคซีนป้องกัน

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้ฉีดวัคซีนป้อง กันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน หรือเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยทั้งสองครั้งให้ในรูปของวัคซีนรวม ป้องกันได้สามโรค คือ โรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน เรียกว่า วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR, M= mumps/ M= measles/ R=rubella) เด็กที่เคยฉีดวัคซีนมาเพียง 1 ครั้ง (ปกติต้องฉีด 2 ครั้งดังกล่าวแล้ว) เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสที่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะลดลงจนไม่สามารถป้องกันเชื้อหัด และทำให้เป็นโรคหัดได้

ในบางกรณี แม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว ก็อาจเป็นโรคหัดได้ แต่จะเป็นแบบชนิดที่อาการต่างๆจะเป็นน้อย มีผื่นขึ้นน้อย สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง อาจพิจารณาให้วัคซีนหัดทันที ซึ่งจะป้องกันการเกิดโรคได้เมื่อยังไม่เคยเป็นหัดมาก่อน และ/หรือ เมื่อไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน

 

ที่มา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2561