5 ความเข้าใจผิดที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมาโรงพยาบาลช้ากว่าที่ควรจะเป็น
21 January 2019, 10:50 am

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้ไปโรงพยาบาลล่าช้าคือ

1. อาการชาคงเกิดจากการนอนทับ “FAST” ที่แปลว่า “เร็ว” เป็นตัวย่อที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้สื่อสารเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองกับประชาชน โดยตัวอักษรสามตัวแรกเป็นอาการ ได้แก่ Face/Facial palsy ใบหน้าเบี้ยว, Arm drip แขนขาอ่อนแรง ไม่มีแรง, Speech พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ และตัวอักษรตัวสุดท้าย Time หมายถึง การรู้เวลาที่เกิดอาการผิดปกติ และถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อาการจะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แต่ “FAST” ยังขาดอาการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “อาการชาแขนขา” จึงทำให้ประชาชนอาจละเลยความผิดปกตินี้ไป นอกจากนี้ทุกคนยัง ‘ชาชิน’ กับอาการชาแขนขายิบๆ หากนั่งหรือนอนทับเป็นเวลานาน ทว่าอาการชาในโรคหลอดเลือดสมองจะไม่ใช่อาการเหน็บชาอย่างที่เคยรู้สึก แต่เป็นอาการที่ไม่มีความรู้สึกถึงสิ่งกระตุ้น เช่น การสัมผัส ความร้อนเย็นเลย และมักจะเป็นครึ่งซีกซ้ายหรือขวาของร่างกาย

2. อาการอ่อนแรง ปวดหัว มึนงง เป็นอาการของไข้หวัด นอนพักเดี๋ยวก็หาย อาการของโรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าจะตีบหรือแตกมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด โดยหากมีสิ่งบอกเวลาขณะเกิดอาการได้ ผู้ป่วยก็มักจะสามารถบอกเวลาได้ชัดเจน เช่น รายการโทรทัศน์ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนกำลังออกอากาศอยู่ในเวลา 2 ทุ่มครึ่ง หรือเป็นขณะกำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่ เช่น เข้าห้องน้ำหลังตื่นนอนตอนเช้าตี 5 ต่างจากอาการของโรคอื่นอย่างไข้หวัดที่จะมีอาการค่อนเป็นค่อยไป จึงไม่สามารถบอกจุดเริ่มต้นของอาการที่เป็นได้

3. กินยาเดิมไปก่อน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นค่อยไปหาหมอ ผู้สูงอายุหลายคนมักจะรักษาอาการ (ที่อาจไม่ตระหนักว่าเป็น) ของโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาที่คุ้นเคยเป็นประจำก่อน เช่น “ชงยาหอมกินแล้วไม่ดีขึ้น” เพราะมักจะสับสนกับอาการหน้ามืดเป็นลม, กินยาลดความดันโลหิต เพราะคิดว่าอาการปวดศีรษะเกิดจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น, หรือยาแก้วิงเวียนศีรษะ เพราะก่อนหน้านี้เคยกินแล้วดีขึ้น ซึ่งการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นก่อนมาพบแพทย์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ว่าหากสังเกตอาการที่บ้านประมาณ 30 นาทีแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรให้ญาติรีบพามาโรงพยาบาล หรือญาติอาจต้องเป็นฝ่ายรบเร้าให้มาตรวจกับแพทย์ว่าเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ เพราะนอกจากอาการแล้ว การตรวจร่างกายก็มีสำคัญในการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยหรือลักษณะอาการไม่ชัดเจน

“FAST” ที่แปลว่า “เร็ว” เป็นตัวย่อที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้สื่อสารเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองกับประชาชน

4. รอรถหยุดติด รอฝนหยุดตก รอให้แดดไม่ร้อนค่อยไปหาหมอ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า “T” ตัวสุดท้ายใน “FAST” คือเวลา มีคำกล่าวที่บุคลากรทางแพทย์ใช้ย้ำเตือนกันในการปฏิบัติงานว่า “Time is Brain” (เวลาคือสมอง) ซึ่งเริ่มใช้กันแพร่หลายตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ตอนที่ยาสลายลิ่มเลือดเข้ามาปฏิวัติการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบด้วยข้อจำกัดของเวลาที่แคบมากเพียง 3 ชั่วโมง และขยายเวลาถึง 4.5 ชั่วโมงสำหรับผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 80 ปีที่ไม่ได้กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ไม่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานและเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน จึงไม่ควรมีข้ออ้างสำหรับการไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ยิ่งเร็วเท่าไรได้ยิ่งดี เพราะจะทำให้แพทย์มีเวลา ‘เผื่อเหลือเผื่อขาด’ ในการตรวจวินิจฉัย ถ้าเป็นโรงพยาบาลชุมชนก็ต้องใช้เวลาในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลจังหวัดอีก และให้รักษาด้วยยาสลายลิ่มเลือดได้ทันเวลาในท้ายที่สุด

5. หมอนวด ประคบ ฝังเข็มก่อนค่อยไปหาหมอ การใช้การรักษาทางเลือกก่อนที่จะไปพบแพทย์แผนปัจจุบันน่าจะเกิดจากสองสาเหตุ โดยสาเหตุแรกคือระยะปฏิเสธ (denial) ผู้ป่วยคิดว่า “ตนเองไม่ได้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรอก” หรืออาการป่วยของตนเองน่าจะเป็นโรคอื่นที่ไม่ร้ายแรง จึงทดลองไปรักษาด้วยการรักษาทางเลือกก่อน กับอีกสาเหตุหนึ่งคือความไม่รู้ว่าอาการของโรคนี้เป็นอย่างไร ทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตนเองเป็นโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงความไม่รู้ว่าต้องรักษาอย่างไร จึงทำให้ไปรักษาผิดทาง อีกทั้งบางคนยังเชื่อตามข้อความที่ส่งเป็นลูกโซ่ต่อกันในสังคมออนไลน์ว่าให้ปฐมพยาบาลด้วยขั้นตอน 1, 2, 3, 4, … ก่อนแล้วค่อยไปโรงพยาบาล